21 Oct What’s leader as coach’s mistakes and how to avoid ep.1
บ่อยครั้งที่ผู้นำหรือหัวหน้างานมักจะใช้การโค้ชเพื่อหวังเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานและพัฒนาบุคลากรขององค์กร แต่หัวหน้าในบทบาทโค้ชมักจะทำพลาดไปในหลายๆกรณี ได้แก่ การให้คำแนะนำหรือบอกคำตอบแก่ลูกน้องแทนการโค้ชเพื่อกระตุ้นให้เขาค้นหาคำตอบด้วยตนเอง การมอบหมายภารกิจที่ยากเพื่อกระตุ้นให้ลูกน้องพัฒนา แต่บางทีภารกิจนั้นก็ยากเกินไปจนทำให้ลูกน้องรู้สึกเครียดและกดดัน หรือผู้บริหารบางท่านก็ยึดติดอยู่กับแนวทางการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ จนทำให้เวลาจะโค้ชลูกน้องก็ยังคงใช้คำถามชี้นำโดยไม่รู้ตัว
อะไรที่ทำให้ผู้นำหรือ หัวหน้าในบทบาทโค้ช ทำพลาดแบบนั้น? แล้วเราจะมีแนวทางอะไรที่สามารถนำมาปรับปรุงการโค้ชของผู้บริหาร หรือ หัวหน้างานได้บ้าง ?
สำหรับบทความนี้ โค้ชเก๋ขอนำแนวคิดและแนวทางการโค้ชที่ง่ายและใช้ได้ผลจริงมาให้ผู้บริหารและหัวหน้างานได้อ่านกันค่ะ
ก่อนอื่น เราควรเข้าใจก่อนว่า การสอนงานกับการโค้ชนั้นแตกต่างกัน
การสอนงาน คือ การที่ผู้สอนซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในเรื่องนั้น ถ่ายทอดความรู้และแนวทางการทำงานให้กับผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์น้อยกว่า รวมทั้งคอยให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาปรับปรุงจนสามารถทำงานนั้นได้ในที่สุด
ส่วนการโค้ช คือ กระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างโค้ชและผู้รับการโค้ชเพื่อทำให้ผู้รับการโค้ชเกิดความตระหนักรู้ มีความรับผิดชอบต่อตนเองทั้งการกระทำและผลลัพธ์ รวมทั้งเกิดการลงมือทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
โดยข้อดีของการโค้ชลูกน้อง ได้แก่
- กระตุ้นให้ลูกน้องได้คิดหาคำตอบและทางเลือกในการแก้ปัญหา
- ลูกน้องได้รับการขยายศักยภาพและเกิดการเติบโตทางความคิด
- ได้แนวทางการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่อาจดีกว่าเดิม
- ลูกน้องมีแรงจูงใจในการนำไปปฏิบัติ เพราะเกิดจากความคิดของตนเอง
สำหรับแนวทางการโค้ชที่เน้นกระตุ้นการเติบโตทางความคิด ได้แก่
- การตั้งคำถามที่สร้างสรรค์และมุ่งไปหาแนวทางแก้ไข (Constructive Question)
- การใช้เรื่องราวอุปมาอุปมัย เพื่อให้มองนอกกรอบเดิมๆ (Metaphor)
- ใช้หลักพื้นที่แห่งการเติบโต (3 Zones of Growth) ซึ่งแบ่งออกเป็น
– Comfort Zone: พื้นที่สบาย คือ การทำงานที่คุ้นเคย ระดับความสามารถที่มีอยู่สามารถทำงานให้สำเร็จได้
– Stretch Zone: พื้นที่แห่งการขยายศักยภาพ คือ การทำงานที่ท้าทาย ทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำ
– Panic Zone: พื้นที่แห่งความตื่นตระหนก คือ การที่ต้องเผชิญกับภารกิจที่เกินความสามารถไปมาก
หัวหน้าที่ดีควรจะผลักดันให้ลูกน้องออกจากพื้นที่สบาย ( Comfort Zone) ไปยังพื้นที่แห่งการขยายศักยภาพ (Stretch Zone) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเองผ่านการทำงานที่ยากขึ้น ท้าทายขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากภารกิจที่มอบหมายนั้นยากเกินไปจนทำให้ลูกน้องเข้าสู่พื้นที่แห่งความตื่นตระหนก (Panic Zone ) แทนที่จะได้พัฒนาตนเองและสร้างผลงาน อาจจะถูกความเครียดบั่นทอนพลังใจพลังความคิด จนทำงานผิดพลาดหรือล้มเหลวได้ หากคุณเป็นหัวหน้างานที่เจอกับสถานการณ์แบบนั้น โค้ชเก๋มีแนวทางในการโค้ชเพื่อดึงลูกน้องกลับมาสู่ พื้นที่แห่งการขยายศักยภาพ (Stretch Zone) ดังนี้ค่ะ
- ทำความเข้าใจมุมมองของลูกน้องที่กำลังตกอยู่ในสภาะเครียดและกดดัน
- การปรับเปลี่ยนมุมมองลูกน้องโดยทำให้เขามองเห็นเป้าหมายของภารกิจ หรือ หลักชัยแห่งความสำเร็จ
- ทำให้เขามองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ โดยเฉพาะด้านที่ตรงข้ามกับการทำภารกิจนี้ เช่น ถ้าไม่ทำภารกิจนี้ เขาจะพลาดโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองกับภารกิจใหม่ ๆ ที่ท้าทาย
นอกจากนี้ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มักเผลอใช้การตั้งคำถามชี้นำ (leading question) เพราะมีคำตอบของแนวทางแก้ปัญหาในใจแล้ว โค้ชเก๋มีคำแนะนำดีๆมาฝากดังนี้ค่ะ
- มุมมองส่งผลต่อการตั้งคำถาม เพราะเราจะสื่อสารออกไปจากมุมมองของเรา เมื่อเรามองเห็นแนวทางแก้ปัญหาจากมุมเดิม ประสบการณ์เดิม เราจึงมีแนวโน้มที่จะตั้งคำถามชี้นำที่พุ่งไปหาแนวทางการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ มากกว่าคำถามที่กระตุ้นศักยภาพทางความคิดของลูกน้อง หรือ การได้มาซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาแบบใหม่ๆ
- การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเริ่มที่การปรับมุมมองของเรา ด้วยการเปิดใจ เปิดกว้าง ไม่รีบสรุปแนวทางแก้ปัญหาจากมุมมองเรา
- ใช้คำถามที่ขยายมุมมองของตัวเราและลูกน้อง เพื่อค้นหาแนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ได้แก่
– What if จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…
– Future Back ถ้าอีก 1 ปีปัญหานี้ได้รับการแก้ไขไปแล้ว เรามองเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากตอนนี้
– Full Authority ถ้าเราเป็นคนที่มีอำนาจการตัดสินใจเต็มที่ เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
- เมื่อได้ทางเลือกในการแก้ปัญหาใหม่ๆที่แตกต่างหลากหลายแล้ว ค่อยใช้ประสบการณ์ของเราในการคัดเลือกแนวทางที่เหมาะกับสถานการณ์มากที่สุด
สำหรับบทความนี้ หวังว่าผู้นำหรือ หัวหน้างานในบทบาทโค้ช จะนำไปประยุกต์ใช้กันได้นะคะ และสำหรับท่านใดที่อยากรับชม Facebook Live ที่โค้ชเก๋พูดถึงเรื่องนี้ฉบับเต็ม สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง https://fb.watch/ngHAwPc23T/ นะคะ พบกันใหม่กับบทความตอนต่อไปค่ะ
“Life Architecture” เราคือสถาบันโค้ชเพื่อพัฒนาศักยภาพและความสำเร็จด้วยนวัตกรรมเครื่องมือและโมเดลการโค้ชที่ได้รับการพิสูจน์แล้วและได้รับการรับรองโดยมาตรฐานสากล
เพราะเราเชื่อมั่นว่า “ทุกคนสามารถมีชีวิตที่ใช่ ทำสิ่งที่รักและเป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้”
Unlock Your True Potential and Shape the Future You Desire
ชีวิตออกแบบได้…
รวมทั้งความสำเร็จของคุณด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง
Line OA : @lifearchitecture